นักธุรกิจอินเดียเตรียมเซ็นสัญญารับซื้อหมากไม่อั้นกับศูนย์รับซื้อขายหมากแม่ขรี จ.พัทลุง เดือน เม.ย.นี้ หลังเมียนมาผู้ส่งออกรายใหญ่ของอินเดียมีปัญหาความไม่สงบในประเทศ ด้านกลุ่มทุนท้องถิ่นตั้งศูนย์รับซื้อขายเก็บสต๊อกในภาคใต้ พ.ค.นี้ พร้อมส่งพ่อค้าอินเดีย-จีน
ดร.สมบัติ ชนะสิทธิ์ เจ้าของตลาดและอดีตนายกเทศมนตรีตำบลแม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันโครงการค้าหมาก จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาตนได้รับการประสานงานจากนักธุรกิจค้าหมากประเทศอินเดียมาอย่างต่อเนื่องที่จะเข้ามารับซื้อหมากสุกในประเทศไทยปริมาณไม่จำกัด เพื่อนำไปแปรรูปจำหน่ายในประเทศอินเดีย
ล่าสุดทางนักธุรกิจค้าหมากอินเดียให้คำยืนยันว่าประมาณเดือนเมษายน 2565 จะทำสัญญาซื้อขายหมากระหว่างพ่อค้าอินเดียกับศูนย์รับซื้อขายหมากแม่ขรี หมู่ 1 เทศบาลตำบลแม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง และเดือนพฤษภาคม 2565 จะเริ่มทำการรับซื้อขายหมาก
โดยศูนย์รับซื้อขายหมากแม่ขรี เป็นกลุ่มนักลงทุนท้องถิ่นที่มีความพร้อมด้านการเงิน และมีเงินสำรองสามารถรับซื้อขายทั้งหมากสุก หมากอ่อน ได้ไม่จำกัดจำนวนจากทั่วภาคใต้ เพื่อจัดเก็บสต๊อกได้พอในระยะเวลาหนึ่ง หากเกิดราคาผันผวนสำหรับการขนส่งหมากไปอินเดียจะใช้ท่าเรือน้ำลึกสงขลา เพราะอยู่ใกล้ศูนย์รับซื้อฯ เป็นเส้นทางตรงไม่ต้องผ่านประเทศเมียนมา และเวียดนาม ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง และค่าบริหารจัดการได้มาก
“เรื่องสำคัญที่ต้องหารือกันคือราคา ว่าจะมีการประกาศราคา เปิดราคาเดือนต่อเดือนหรืออย่างไร เพื่อป้องกันราคาขึ้น-ลงอ่อนไหว จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงกันทุกฝ่าย เพราะราคากลางหมาก ถูกตั้งราคาจากคนกลางในประเทศเมียนมาในการเปิดราคาซื้อขาย ดังนั้นการขึ้นลงราคาจะมีความเสี่ยงต่อพ่อค้ารับซื้อขายหมากในไทย
ดังนั้น กลุ่มค้าหมากจึงต้องดำเนินการอย่างครบวงจรเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยต้องมีพื้นที่จัดเก็บสต๊อกเข้าโรงอบรักษาคุณภาพความชื้น เพราะแต่ละลอตมีจำนวนมาก หากหมากราคาขาลง ต้องเก็บสต๊อกเพื่อรอราคาที่ดี แต่เมื่อได้ราคาดีก็ปล่อยออก ตอนนี้หมากอ่อนทางภาคอีสานราคาพุ่ง 120 บาท/กก. หมากสุกทางใต้ 80 บาท/กก.” ดร.สมบัติกล่าว
แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจการค้าหมาก อ.กงหรา จ.พัทลุง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อ.กงหรา จ.พัทลุง ถือเป็นศูนย์รวบรวมซื้อ-ขายหมากรายใหญ่ของภาคใต้และเป็นผู้ส่งออกทั้งหมากสุกและหมากอ่อนรายใหญ่ของประเทศ
โดยเส้นทางการค้าหมากส่งออก พ่อค้าไทยจะส่งออกหมากไปให้กลุ่มผู้ค้าในประเทศเมียนมา หลังจากนั้นทางเมียนมา จึงบริหารจัดการส่งออกต่อไปยังประเทศอินเดีย แต่ขณะนี้ประเทศเมียนมามีปัญหาความไม่สงบในประเทศมาต่อเนื่อง การค้าหมากจึงค่อนข้างมีอุปสรรค และทางพ่อค้าอินเดียเริ่มขาดความเชื่อมั่น จึงหันมาลงทุนรับซื้อหมากในประเทศไทย
โดยจังหวัดในภาคใต้ที่มีการปลูกหมากจำนวนมาก เช่น จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช ฯลฯ ในส่วนของหมากอ่อน พ่อค้าไทยส่งออกไปให้ผู้ค้าหมากในประเทศเวียดนาม หลังจากนั้นทางประเทศเวียดนามจะบริหารจัดการส่งออกต่อไปยังประเทศจีนอีกทอดหนึ่ง สินค้าหมากที่ส่งออกไปขายให้จีนส่วนหนึ่งบริโภค อีกส่วนนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
หากพิจารณาเส้นทางการค้าหมากของไทย สะท้อนผ่านตัวเลขการส่งออกช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของกระทรวงพาณิชย์ มีข้อน่าสังเกตเฉพาะตลาดสำคัญ ไทยมีการส่งออกไปตลาดหลักเมียนมาเพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2555 เมียนมาเป็นตลาดอันดับ 3 มีมูลค่าส่งออก 194.45 ล้านบาท ปี 2556 เมียนมาขยับขึ้นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 มีมูลค่าส่งออก 174.19 ล้านบาท
ปี 2557 เมียนมา เป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 มูลค่า 174.57 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2558 เมียนมาขยับขึ้นเป็นตลาดส่งออกหมากอันดับ 1 ของไทยมาต่อเนื่องและมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ปี 2563 มูลค่า 1,714.17 ล้านบาท และปี 2564 มูลค่า 4,432.87 ล้านบาท
ขณะที่ตลาดอินเดียลดการนำเข้าจากไทยในช่วง 10 ปี โดยปี 2555 อินเดียเป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 มีมูลค่า 134.62 ล้านบาท มาถึงปี 2564 อยู่อันดับ 6 มูลค่า 53.05 ล้านบาท
ส่วนตลาดเวียดนาม ช่วง 10 ปีไทยมีการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2555 อยู่อันดับ 12 มูลค่า 2.97 ล้านบาท มาถึงปี 2564 ก้าวขึ้นอันดับ 2 มูลค่าส่งออก 286.83 ล้านบาท ขณะที่ตลาดจีน ช่วง 10 ปีนำเข้าจากไทยน้อยมาก แทบจะไม่ติดอันดับ 15 ตลาดหลักส่งออกของไทย ปี 2555 อยู่อันดับ 15 มูลค่า 0.44 ล้านบาทมาถึงปี 2564 จีนโผล่ขึ้นมาอยู่อันดับ 9 มูลค่าส่งออก 10.83 ล้านบาท อัตราการขยายตัว 186,565.52%
ที่มา…… https://www.prachachat.net/local-economy/news-897300 *** ขอบคุณครับ***