ธุรกิจหมาก-พลูส่งตลาดต่างประเทศ แหล่งใหญ่อยู่ภาคใต้และภาคตะวันออก ถือเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างเงียบ ๆ ด้วยกระแสตลาดไต้หวัน อินเดีย ยุโรปตอบรับที่ดีมีโอกาสขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่การปลูกมีต้นทุนต่ำแทบไม่มีความเสี่ยง มีแนวโน้มเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าจับตา “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “จุรียพร วงษ์แก้ว” เจ้าของบริษัท ใบพลู เฮอร์เบิล จำกัด หนึ่งในบริษัทส่งออกใบพลูไปตลาดไต้หวัน บอกเล่าถึงกระบวนการผลิตและธุรกิจ
ขยายเครือข่ายนับ 100 ตัน
นางสาวจุรียพร วงษ์แก้ว เจ้าของบริษัท ใบพลู เฮอร์เบิล จำกัด ให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป็นชาว อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เห็นทางภาคใต้ปลูกใบพลูได้ผลดีและมีตลาดส่งออกต่างประเทศ จึงสนใจการปลูกพลูส่งออกที่ จ.จันทบุรี เพราะสภาพอากาศร้อนชื้นคล้ายกับภาคใต้ จึงเริ่มศึกษาจากเพื่อนที่ปลูกอยู่ภาคใต้ใช้เวลาเรียนรู้ กระบวนการปลูก การส่งออกอยู่ภาคใต้ 1 ปี จากนั้นกลับมาปลูกที่สวน อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี และทำธุรกิจส่งออกให้ไต้หวัน เริ่มตั้งแต่ปลูกเอง 2-3 ไร่ พร้อม ๆ กับทำในระบบเครือข่ายเพื่อขยายพื้นที่ปลูกใน อ.แก่งหางแมว อ.เขาคิชฌกูฏ อ.ท่าใหม่ และ จ.ตราดที่อยู่ใกล้เคียง
ปัจจุบันมีพื้นที่ของตนเองปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยว 8-9 ไร่ และพื้นที่เป็นเครือข่าย รวมประมาณ 60 ไร่ ผลผลิตประมาณ 500 กิโลกรัม/ไร่ รวมทั้งหมดประมาณ 30 ตัน ยังไม่เพียงพอกับตลาดรับซื้อต้องการขยายพื้นที่เครือข่าย 200 ไร่ ผลผลิต 100 ตัน
ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะขยายเครือข่ายตามเป้าหมาย แต่ทำได้ค่อนข้างยากเพราะต้องเป็นเกษตรกรที่มีใจรัก สภาพพื้นที่อากาศเหมาะสม และระยะเวลาขนส่งจากพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นเครือข่ายเมื่อเก็บแล้วต้องนำมาทำแพ็กกิ้งที่โรงงานให้เสร็จภายใน 5-7 วัน
“พันธุ์พลูที่ปลูกใช้พันธุ์พัทลุงที่เป็นพันธุ์ไต้หวันผสมกับทางใต้ ที่ตลาดรับซื้อให้ปลูก รสชาติไม่เผ็ด หวานกว่าพลูไทย เดิมที่ซื้อมาปลูกใหม่ ๆ ราคายอดละ 30 บาท แต่ตอนนี้มีการขยายเครือข่ายปลูกกันมากขึ้นราคายอดละ 15-20 บาท ใช้เวลาปลูก 1 ปีเต็มจะให้ผลผลิตเต็มที่และเก็บผลผลิตได้นาน 10-15 ปี ทั้งนี้แปลงใบพลูที่ทำเพื่อส่งออกต้องมีใบรับรอง GAP ผลผลิตที่ได้มาตรฐานปลอดภัย”
ส่งไต้หวัน-อินเดีย-ปากีสถาน
จุรียพรกล่าวถึงตลาดรับซื้อ มีไต้หวัน อินเดีย ปากีสถานและทางยุโรป แต่ส่งออกตลาดไต้หวันเป็นหลัก เพราะมีพ่อค้าไต้หวันทางใต้มาติดต่อทำตลาดตั้งแต่แรกและผลผลิตยังไม่เพียงพอ ส่วนตลาดอินเดียมีความต้องการสูงเช่นกันเคยส่งให้บ้างระยะแรก ๆ
กระบวนการส่งออกจะมี 3 ข้อหลัก ๆ คือ 1) คุณภาพใบพลูที่ส่งออก ใบต้อง “สีเขียวสวยมันเรียบ” ลักษณะใบใบไม่บิด เบี้ยว ไม่มีลาย จุด ไม่มีสีเหลือง 2) คัดขนาด 3 ไซซ์ เล็ก 3-4 นิ้วขนาดกลาง 4-5 นิ้ว ขนาดใหญ่ 5-6.5 นิ้ว 3) การแพ็กกิ้ง ต้องจัดตามขนาด นำมาตัดขั้ว ชุบน้ำยาให้ใบสด บรรจุใส่กล่องส่งทางเครื่องบิน และบรรจุลงตะกร้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์ส่งทางเรือ หนึ่งเดือนจะเก็บใบพลู 3 รอบ 10 วัน/ครั้ง ถ้า 500 กิโลกรัม จะใช้เวลาเก็บและแพ็กกิ้ง 3-4 วัน ถ้า 1,000 กิโลกรัม ใช้เวลา 7 วัน
“ใบพลูที่ส่งออกทางเรือจะมีบริษัทขนส่งนำตู้คอนเทนเนอร์มารวบรวมที่ จ.นครปฐมเป็นศูนย์กลางของตู้คอนเทนเนอร์บรรจุพลูของไทยเพื่อส่งออก การขนส่งทางเรือไปไต้หวันใช้เวลา 13 วัน ส่วนทางเครื่องบินส่งที่สนามบินสุวรรณภูมิจะไปลงที่เมืองไทเปใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง เฉลี่ยแล้วคือ 1 วัน ทางบริษัทตลาดไต้หวันเป็นผู้ดำเนินการเรื่องการขนส่ง ช่วงราคาใบพลูแพงจะให้ส่งทางเครื่องบิน แต่ปกติเป็นการขนส่งทางเรือรวมทั้งค่าใช้จ่าย โดยปลายทางจะกระจายให้ร้านค้าต่าง ๆ ที่ต้องไปทำแพ็กกิ้งขายให้ลูกค้า”
ไต้หวันเคี้ยวหมากพลูชูกำลัง
จุรียพรเล่าว่า พ่อค้าไต้หวันที่มารับซื้อใบพลูส่งตามร้านต่าง ๆ จะทำหมากเป็นไส้ช็อกโกแลต ดีปลีคู่กับพลูจำหน่ายเป็นคำ คำละ 20-30 บาท บรรจุกล่องราคา 250-500 บาท หรือ 1,000 บาท ผู้บริโภคจะนิยมเคี้ยวหมากกันทั้งวันเหมือนดื่มเครื่องดื่มกาแฟ ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า และบริโภคจนเคยชินหรือติด ร้านค้าที่ขายเป็นห้องกระจกริมถนนใหญ่ ที่ผู้คนผ่านไปมา หรือไปทำงาน
กลยุทธ์การขายมีสาว ๆ แต่งตัวนุ่งน้อยห่มน้อยคอยโบกมือเรียกลูกค้า ร้านไหนขายดีรถจะติดเป็นแถวยาว กลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่เป็นผู้ชาย กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานซึ่งมีกำลังซื้อสูง เพราะไต้หวันค่าแรงขั้นต่ำวันละ 1,500 บาท จะซื้อหมากพลูติดกระเป๋าเป็นกล่องเคี้ยวแล้วคายทั้งวัน หมากพลู 1-2 คำ เหมือนดื่มกาแฟ 3 แก้ว หรือดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง ต่างจากอินเดีย ส่วนใหญ่ปลูกเอง และนำเข้าจากประเทศใกล้เคียงอย่างศรีลังกา เมียนมาที่รสชาติถูกใจมากกว่าและกลุ่มผู้บริโภคเป็นระดับชาวบ้านทั่ว ๆ ไปกำลังซื้อน้อยกว่าและไม่กว้างเท่าตลาดไต้หวัน
ช่วงปลาย ๆ ปีใบพลูราคาดีตรงกับฤดูหนาวของไต้หวันที่อากาศหนาวมีหิมะตกปลูกเองไม่ได้ ราคาอยู่กิโลกรัมละ 80-100 บาท ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จะราคาเดียวกัน ปี 2564 ช่วงสั้น ๆ เคยสูงถึง 240-250 บาท และช่วงราคาต่ำคือเดือนมิถุนายน-กันยายน ไต้หวันปลูกเองได้ ราคาเคยลดลงเหลือ 40 บาท ถ้าต่ำกว่านี้จะปลูกได้ไม่คุ้มทุน
นอกจากไต้หวันแล้ว ใบพลูยังมีตลาดอินเดีย ปากีสถาน และยุโรป ออสเตรเลียในโซนที่มีชาวอินเดีย ไต้หวันอยู่ยังมีความต้องการใบพลูจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถผลิตได้ทันจึงส่งเฉพาะไต้หวัน 2 บริษัท โดยมีโรงงานแพ็กกิ้ง 2 แห่ง ที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี และ จ.นครปฐมมีออร์เดอร์อาทิตย์ละ 4 รอบ รอบละ 500-1,000 กิโลกรัม ตอนนี้ทำได้เพียงสัปดาห์ละ 1-2 รอบ รอบละ 500-1,000 กิโลกรัม…
ที่มา…… https://www.prachachat.net/local-economy/news-849636#google_vignette *** ขอบคุณครับ***